น้ำกะทิและน้ำมะพร้าวช่วยรักษาคนศีรษะล้านได้จริงหรือไม่ ?

ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการ หรือการทดลองที่ทำชัดเจนว่าน้ำมันมะพร้าว หรือกะทิสามารถรักษาผมร่วงได้จริงหรือไม่ แต่มีการปฏิบัติกันมาตั้งแต่ในอดีตเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านว่า กะทิสามารถนำมาใช้ในการบำรุงผม บำรุงหนังศีรษะ ทำให้ผมเป็นประกายเงางาม ทำให้ผมแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยลดผมร่วง และกระตุ้นการเจริญของผมใหม่ได้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากว่าการสระผมทั่วๆ ไป อาจทำให้โปรตีนที่เคลือบอยู่บนเส้นผมตามธรรมชาติหลุดออกไปในระหว่างที่สระผม ซึ่งส่วนประกอบหลักของเส้นผมคือ โปรตีนที่เรียกว่าเคอราติน (Keratins) กะทิ ที่เคลือบเส้นผมสามารถทำให้โปรตีนเกิดการสูญเสีย ออกไปน้อยที่สุด อาจเนื่องจากว่าโปรตีนในน้ำมันมะพร้าวมีความใกล้เคียงกับโปรตีนของเส้นผม และในน้ำมันมะพร้าวมีส่วนประกอบเป็นไขมันสายกลาง (medium chain triglycerides ; MCT ) : ซึ่ง MCT นี้ สามารถผ่านเข้าออกอย่างอิสระที่ผนังเซลล์ และการที่มีน้ำหนักโมเลกุลน้อยนี้ทำให้สามารถผ่านเข้าออกจากเส้นผมได้อย่าง ง่ายดาย จึงมีประสิทธิภาพในการบำรุงเส้นผมได้ดี อีกทั้งสารเคลือบผมตามธรรมชาติที่เรียกว่า ซีบัม (sebum) ซึ่งคอยปกป้องเส้นผมและหนังศีรษะไม่ให้แห้ง แตกง่ายยังมีส่วนผสมเป็น MCT ซึ่งคล้ายกับที่มีในมะพร้าวด้วย กะทิ ยังช่วยในการดูดซึมวิตามินอี ซึ่งช่วยในเรื่องของการไหลเวียนโลหิต นำพาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณหนังศีรษะและรากผมได้ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้กะทิจะมีน้ำมันดังกล่าวแล้ว ยังประกอบไปด้วยเอนไซม์ที่จำเป็นที่มีส่วนช่วยในการหยุดผมร่วง และลดผมหงอกก่อนวัยได้ นอกจากนี้ในกะทิยังมีสารฟาโวนอยท์ (flavonoids) วิตามินอี และ ดี ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญของเส้นผมด้วย มะพร้าวเป็นสารจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ไม่มีพิษ ไม่เป็นสารเคมี จึงไม่เป็นอันตรายหากจะใช้กับเส้นผมหรือหนังศีรษะ วิธีการใช้มะพร้าวในการบำรุงหนังศีรษะ ลดผมร่วง มีได้หลายตำรา ยกตัวอย่างเช่น
1. การใช้กะทิ ควรใช้มะพร้าวแก่ ขูดมะพร้าว มาคั้นกะทิสด ๆ ใช้กะทิประมาณ 1 – 2 แก้ว ขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผม ชะโลมกะทิลงบนศีรษะและเส้นผม ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า (ยังไม่ต้องสระผมด้วยแชมพู) วิธีนี้จะทำให้น้ำมันมะพร้าวเคลือบอยู่บนเส้นผมได้นาน ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน แล้วค่อยสระผมด้วยแชมพูอีกครั้งในวันถัดไป วิธีนี้จะทำให้เส้นผมนิ่ม เรียบลื่นขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ และจะเริ่มสังเกตได้ว่าผมร่วงลดลง ควรทำวิธีนี้อาทิตย์ละครั้ง แม้ว่าผมร่วงจะดีขึ้นแล้วก็ควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 2 – 3 อาทิตย์ต่อครั้ง วิธีนี้ไม่เฉพาะลดผมร่วงได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เส้นผมมีสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย ผมร่วงจะเริ่มสังเกตเห็นว่าลดลงเมื่อทำไปประมาณ 2 สัปดาห์ และได้ผลดีเมื่อทำไปแล้ว ประมาณ 2 เดือน อาจเพิ่มประสิทธิภาพโดยการใช้กะทิที่อุ่น ๆ
2. อาจใช้น้ำมันมะพร้าวที่สกัดแล้ว ควรเลือกน้ำมันมะพร้าวที่ใช้วิธีสกัดเย็น เนื่องจากไม่มีการสูญเสียวิตามินธรรมชาติที่มีอยู่ในมะพร้าวไปกับความร้อนใน ขั้นตอนการสกัด ชะโลมที่บริเวณหนังศีรษะ และเส้นผมแล้วนวด สัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออกตอนเช้า การใช้นิ้วมือนวดหนังศีรษะจะช่วยกระตุ้นเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหนังศีรษะได้ ด้วย

ยาที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงหรืออาการผมร่วง

ผลข้างเคียงของยาบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะผมร่วง กระตุ้นให้เกิดศีรษะล้านได้ ยาเหล่านั้นที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้แก่

  1. กลุ่มยารักษาสิว ได้แก่ ยาที่เป็นอนุพันธ์ของวิตามิน A เช่น Accutane (isotretinoin) ยากลุ่มนี้นอกจากจะทำให้มีเยื่อบุอ่อนแห้งแตกลอกเป็นขุยแล้ว ยังทำให้ผมร่วงได้มากๆ เลย
  2. ยาลดการแข็งตัวของเลือด มักใช้ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตัน Panwarfin® (warfarin Sodium), Sofarin®, Coumadin Heparin injections
  3. ยาลดคลอเลสเตอรอลในเลือด Atromid–s® ( clofibrate) Hidil®, Lopid® ( gemfibrozil)
  4. ยากันชัก
  5. ยาต้านโรคซึมเศร้า ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและยาคลายเครียด ได้แก่
    Anafranil® ( clomipramine)
    Elavil® ( amitriptyline)
    Norpramin® (desipramine hydrochloride)
    Pamelor® (nortriptyline)
    Paxil® (paroxetine)
    Prozac® (fluoxetine)
    Sinequan® (doxepin)
    Surmontil® (trimipramine)
    Tofranil® (imipramine)
    Vivactil® (protriptyline)
    Zoloft® (sertraline)
  6. ยาลดน้ำหนัก ได้แก่ ยากลุ่มอนุพันธ์ของ Amphetamines ซึ่งใช้ลดน้ำหนักทำให้ความอยากอาหารลดลง
  7. ยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ KetoconaZole Fluconazole
  8. ยารักษาโรคเก๊าฑ์ ยาลดกรดยูริค ได้แก่ Zyloprim® (allopurinol)
  9. ยาหยอดตารักษาโรคต้อหิน ได้แก่ กลุ่มต่อต้านเบต้า (Beta – blocker drugs) เช่น Timolol® eye drops.
  10. ยาลดความดันโลหิต ใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ได้แก่ กลุ่มยาต่อต้านเบต้า (Beta – blockers)
    Tenormin® (Atenolol)
    Lopressor® (metoprolo)
    Corgard® (nadolol)
    Inderal® (propanolol)
    Blocadren® (timolol)
  11. ยากลุ่มฮอร์โมน ทั้ง ฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนเพศชายได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด
    * การใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยทอง เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน (estrogen และ progesterone)
    * ยาฮอร์โมนเพศชาย แอนโดรจีนิกและเทสโทสเตอโรน (Male androgenic hormones and testosterone)
    * สเตียรอยด์ ได้แก่ Prednisolone
  12. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ ได้แก่ Naprosyn® (Naproxen), Indocin® (indomethacin), Clinoril® (sulindac)
  13. ยารักษาโรคพาร์กินสัน ได้แก่ Levadopa/L – dopa (Dopar,Laradopa)
  14. ยารักษาไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน
  15. ยารักษาแผลในกระเพาะอาหารหรือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ได้แก่ Pepcid® (famotidine), Zantac® (ranidine), Tagamet® (Cimetidine)

ผมร่วงเป็นหย่อมๆ รักษาได้อย่างไร ?

การรักษาผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ผมมีการขึ้นใหม่ในบริเวณที่ร่วงได้เร็วและดีกว่าการปล่อย ให้หายเองแบบธรรมชาติ ในขณะที่อาจพบว่ามีวงของผมที่ร่วงใหม่เกิดขึ้นได้ เป็นไปตามลักษณะการดำเนินไปของโรค การหายของโรคนี้เกิดขึ้นโดยร่างกายเองเท่านั้น ที่จะหยุดภาวะความแปรปรวนของภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อรากผม ผมจึงจะหยุดร่วง ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องใช้อย่างต่อเนื่องไปจนกว่าภาวะดังกล่าวดีขึ้น หากหยุดยาก่อน ผมที่ขึ้นจากการกระตุ้นของยาอาจร่วงหลุดไปได้เช่นกัน ยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่

  1. ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
    มีฤทธิ์ลดการอักเสบและกดการสร้างภูมิคุ้มกัน มีการใช้ทั้งในรูปของยาทาเฉพาะที่, ยากิน และยาฉีดเฉพาะที่เข้าใต้ผิวหนังบริเวณที่มีผมร่วง สเตียรอยด์ที่นิยมใช้ได้แก่ Clobetasol หรือ Fluocinonide และที่อยู่ในรูปของยาทาหรือ ยาฉีดเฉพาะที่ ในรูปของยาฉีดมักใช้เมื่อผมร่วงเป็นหย่อมเล็กที่บริเวณหนังศีรษะหรือร่วงที่ บริเวณคิ้วหรือหนวด การฉีดจะต้องฉีดทุก ๆ 3 – 6 สัปดาห์ ถ้าเป็นในระยะแรกอาจรักษา โดยการใช้ยาสเตียรอยด์บริเวณที่หลุดร่วง อย่างไรก็ตามการทายาเพียงอย่างเดียวอาจได้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากการดูดซึมของยาผ่านบริเวณหนังศีรษะจนถึงระดับของรากผมอาจน้อยกว่า ปริมาณของยาที่ต้องการในการรักษา การรักษาจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้ยาต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน การใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปของยากินได้ผลดีในการลดผมร่วง แต่อาจพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เนื่องจากต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานจนกว่าโรคจะสงบเอง หากหยุดยาก่อนผมจะกลับมาร่วงใหม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมใช้ในกรณีที่มีผมร่วงเป็นวงกว้าง หรือมีขนร่วงร่วมด้วย หรือใช้ในช่วงระยะแรกในการรักษา ร่วมกับยาทา
  2. ยาทาไมนอกซิดิล 5% (Topical minoxidil 5% solution)
    สามารถกระตุ้นผมขึ้นใหม่ได้ การใช้จะใช้ทาบริเวณที่ร่วงได้ทั้งที่หนังศีรษะ, หนวด, เครา, คิ้ว วันละ 2 ครั้ง สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การขึ้นใหม่ของผมจะเริ่มสังเกตเห็นได้เมื่อใช้ยาต่อเนื่องไปประมาณ 3 เดือน
  3. แอนทราลิน (Anthralin)
    เป็นผงถ่านสังเคราะห์ มีฤทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงการทำงานของภูมิคุ้มกันที่บริเวณผิวหนัง การใช้ทาไว้บริเวณที่มีผมร่วง 20 – 60 นาที แล้วล้างออก เพื่อป้องกันไม่ให้หนังศีรษะเกิดภาวะระคายเคือง ในบางครั้งอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษาผมร่วงเป็นหย่อม ๆ

เคล็ดลับในการดูแลผมมันหรือหนังศีรษะมัน

ภาวะผมมันหรือหนังศีรษะมัน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ความไม่สมดุลของฮอร์โมน สภาวะแวดล้อม หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมบริเวณศีรษะ ส่วนใหญ่หนังศีรษะที่มันจะพบว่าร่วมกับผิวมัน อาจพบในหญิงตั้งครรภ์ได้ หนังศีรษะที่มันมาก ๆ มีความสำคัญและทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ เคล็ดลับข้างล่างนี้จะช่วยในการดูแลผมมัน

  1. ใช้แชมพูอ่อน, แชมพูสำหรับผมมัน, แชมพูสำหรับหนังศีรษะแห้ง หรือแชมพูสำหรับเด็ก
  2. สระผมทุกวัน เน้นแชมพูที่บริเวณผม ไม่ใช่บริเวณหนังศีรษะ เนื่องจากอาจทำให้หนังศีรษะแห้งมากได้
  3. ล้างผมด้วยน้ำเย็น หรือน้ำอุ่นเล็กน้อยมาก ๆ จนผมสะอาดดี เนื่องจากแชมพูที่ตกค้างบริเวณหนังศีรษะ จะทำให้หนังศีรษะแห้งมากได้
  4. ใช้ทรีทเมนท์น้ำมันร้อน (hot oil treatment) นวดบริเวณหนังศีรษะๆ แล้วล้างออก ไม่ให้เหลือตกค้างที่บริเวณเส้นผม
  5. ถ้าผมมันมาก อาจไม่จำเป็นต้องใช้ครีมนวดผม (conditioner) หรืออาจใช้ครีมนวดผมเฉพาะบริเวณปลายผมเท่านั้น
  6. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันใส่ผม ครีมแต่งผมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ โดยเฉพาะที่ทำจากกรีเซอรีนหรือซีรีโคน (glycetine and silicone) เนื่องจากจะทำให้ผมมันมากขึ้นไปอีก
  7. ถ้าผมมันมาก ๆ อาจผสมน้ำส้มสายชู 1 ส่วนในน้ำ 4 ส่วน ใช้ล้างผมครั้งสุดท้าย หรืออาจใช้น้ำมะนาวผสมน้ำ แทนน้ำส้มสายชูในการล้างผม ทำให้ได้ผมที่พึงพอใจมากกว่าในการลดผมมัน
  8. ไม่ควรหวีผมมากเกินไป เนื่องจากการหวีผมบ่อยมากเกินไปจะกระตุ้นให้หนังศีรษะผลิตน้ำมันออกมามาก
  9. การถูหรือเกาหนังศีรษะมาก ๆ ทำให้หนังศีรษะผลิตไขมันออกมามากขึ้น
  10. แชมพูที่มีส่วนผสมจากสารธรรมชาติ ต่อไปนี้ อาจช่วยในการลดความมันและฟื้นฟูสภาพเส้นผม
    - น้ำมันโจโจบา (Jojoba oil) เนื่องจากมีส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันเคลือบผม (sebum) จะช่วยลดความแห้งของผมจากการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อลดความมันของผมที่แรงเกินไป ได้
    - น้ำมันโรสแมรี่ (Rosemary oil) เป็นสารทำความสะอาดหนังศีรษะที่ดี และช่วยการกระตุ้นรากผม
    - น้ำมันทีทรี (Tea tree oil) อ่อนบางและช่วยกำจัดความมันที่มากเกินไปบนเส้นผม ช่วยกำจัดรังแคและแบคทีเรีย
    - Sage ช่วยในการละลายน้ำมันที่เกาะอยู่ที่เส้นผมและช่วยทำให้เส้นผมหนาขึ้น
    - ยูคาลิปตัส (Eucalyptns) ช่วยให้หนังศีรษะกลับมาผลิตน้ำมันได้อย่างสมดุล โดยควบคุมการผลิตจากต่อมไขมัน (Sebum) ลดและกำจักการอักเสบของหนังศีรษะ
    - Chamomile คาโมมายล์ ช่วยทำให้ผมเป็นประกายและแข็งแรง ไม่แนะนำให้ใช้ในผมที่ทำสี เนื่องจากจะทำให้สีผมอ่อนลง โดยเฉพาะผมที่ทำไฮไลท์ (highlights) อาจทำให้สีผมบริเวณไฮไลท์อ่อนลงเป็นสีด่างๆ
    นอกจากนี้ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถลดความมันของเส้นผมได้ ได้แก่ อโลเวรา (aloe) , ไข่ขาว , เมนทอล (menthol), ซอบิทอล (sorbitol), kaolin - ดินขาว, กรดผลไม้ (citric acid), แป้ง (starch)

สมุนไพรแต่ละชนิดช่วยเรื่องผมร่วงอย่างไร

  1. อโลเวรา (Aloe Vera) มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ, ให้ความชุ่มชื้น, หล่อเลี้ยง และช่วยให้เส้นผมคงความแข็งแรง หนา มีการศึกษาพบว่าพืชชนิดนี้มีสารสำคัญตามธรรมชาติ 5 อย่าง ที่ช่วยป้องกันหนังศีรษะอักเสบ
  2. ลาเวนเดอร์ (Lavender) มีฤทธิ์ที่ดีมากในการต้านการอักเสบและต้านแอนโดรเจน สามารถใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงจากกรรมพันธุ์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมดูหนาและเปล่งประกายมากขึ้น
  3. พริก (apsicum) เร่งการขึ้นใหม่ของเส้นผมและเพิ่มการไหลเวียนโลหิตที่บริเวณหนังศีรษะ พริกเป็นสมุนไพรที่ยอดเยี่ยมในการช่วยลดภาวะผมร่วงที่เกิดจากการที่เลือดและ สารอาหารไปหล่อเลี้ยงหนังศีรษะลดลง
  4. เบอร์ดอก (Burdock) ช่วยในการรักษาภาวะมีการระคายเคืองของหนังศีรษะ และช่วยทำให้ผมที่บางลง หนาขึ้น นอกจากนี้ยังให้กรดไขมันที่จำเป็น (essential fatty acids) และไขมันธรรมชาติจากพืช (natural phytosterols) กับรากผม ดังนั้นจึงทำให้ผมแข็งแรงและดูเป็นประกาย
  5. ขิง (Ginger) ช่วยในการกระตุ้นการเจริญของรากผม และมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบอยู่มาก จึงช่วยให้เส้นผมแต่ละเส้นมีความหนาเพิ่มขึ้น
  6. โรสแมรี่ (Rosemary) กระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่หนังศีรษะ และช่วยกำจัดไขมัน (sebum) และลดรังแคที่หนังศีรษะได้
  7. เสจ (Sage) ประกอบไปด้วยสารชำระล้างทำความสะอาด และสารต่อต้านเชื้อโรค (anti – septic) กระตุ้นการเจริญของเส้นผม และยังช่วยทำให้ผมแข็งแรงและหนาตัวขึ้น

แก้ปัญหาผมร่วงด้วยตัวเองโดยวิธีธรรมชาติ

วิธีแก้ผมร่วงโดยวิธีธรรมชาติด้วยตนเอง วิธีการที่แนะนำนี้ ทางไทยแฮร์เซ็นเตอร์ รวบรวมและคัดสรรมา คุณสามารถใช้ร่วมระหว่างการรักษาที่ไทยแฮร์เซ็นเตอร์ได้ มีการรักษาโดยวิธีการใช้สารธรรมชาติที่อาจทำได้ โดยคุณสามารถเลือกทำวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

  1. นวดหนังศีรษะด้วยน้ำมันเอสเซนเชียล (essential oil) 2- 3 หยดหรือ น้ำมันพืชเช่น น้ำมันมะกอก นวดจนซึมเข้าสู่หนังศีรษะจนทั่ว ห่อด้วย พลาสติก หรือผ้าอุ่น ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่นเล็กน้อย และแชมพูอ่อน ปฏิบัติเป็นประจำ วิธีนี้จะช่วยให้รูขุมขนชุ่มชื่นขึ้น
  2. ผสมน้ำแอปเปิ๊ล กับ ชาเขียว ล้างผมเป็นประจำ จะช่วยให้ผมเจริญขึ้นใหม่ได้ดีขึ้น
  3. ผสมน้ำมันละหุ่งอุ่นเล็กน้อยและน้ำมันเมล็ดแอลมอนด์ นวดหนังศีรษะโดยทั่ว อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
  4. บดเมล็ดมะนาวกับพริกไทยดำผสมเข้าด้วยกันในขนาดเท่า ๆ กันในน้ำ ทาบริเวณหนังศีรษะเป็นประจำ
  5. ทาหนังศีรษะบริเวณที่ล้าน ด้วยหัวหอม แล้วตามด้วยน้ำผึ้ง ทำวันละ 1 ครั้ง
  6. นวดหนังศีรษะด้วยน้ำมันเมล็ดอัลมอนด์วันละ 1 ครั้ง ช่วยลดผมร่วง
  7. นวดหนังศีรษะและผมด้วย น้ำมันมะพร้าวและอโลเวราเจล ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงแล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่นเล็กน้อย ทำ 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  8. นวดหนังศีรษะและผมด้วยน้ำผึ้งผสมไข่แดงทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วล้างออก เพื่อป้องกันการหลุดร่วงของผม
  9. รับประทานงาขาว 1 กำมือทุกวันตอนเช้า 1 กำมือของงาขาวจะมีแคลเซียมและแมกนีเซียม 1,200 มิลลิกรัม ช่วยเพิ่มสารอาหารของหนังศีรษะให้แข็งแรงขึ้น
  10. นวดหนังศีรษะด้วยน้ำมันมะพร้าว ทุกวัน 10 -15 นาที ใช้น้ำต้มใบสะเดาทิ้งไว้ให้เย็น ช่วยในการล้างน้ำมันมะพร้าวออก
  11. เพิ่มการรับประทานเนื้อสัตว์ ถั่ว (เพิ่มการรับประทานโปรตีน) โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่วเหลืองหรือนมถั่วเหลืองถ้าสามารถกินได้วันละ 1/2 ลิตรได้ เส้นผมจะงอกใหม่เร็วมาก
  12. รับประทานโยเกิร์ต 1 ถ้วยทุกวัน
  13. เพิ่มอาหารพวกผักใบเขียว สลัด จมูกข้าวสาลี และธัญพืช